ยามเย็นท่ามกลางท้องทุ่งสีทอง
— “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” —
เมื่อพูดถึงทุ่งข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ ปกติจะค่อนข้างเห็นได้ยากในเมืองไทย จนกระทั่งไม่นานมานี้ (ประมาณสิบปีก่อน) หลังจากเริ่มออกตระเวนถ่ายรูปกับกลุ่มเพื่อนๆ จึงมีโอกาสได้เจอทุ่งแห่งความฝันได้เสียที โดยจะเป็นแปลงปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีตั้งอยู่ภายในบริเวณ “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่นัก ปัจจุบันก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและเป็นสถานที่นิยมมาถ่ายรูปกัน มักเรียกกันจนติดปากว่า “ทุ่งบาร์เลย์” ซึ่งความจริงแล้วส่วนมากจะเป็นข้าวสาลี (Wheat) เสียมากกว่า มีบาร์เลย์เพียงส่วนน้อย แต่ส่วนตัวผมหากดูเผินๆ ก็แยกกันไม่ค่อยออกเท่าไหร่ครับ
(พื้นที่โฆษณา) หากไม่ได้เข้ามาเว็บนี้เป็นประจำ สามารถกดติดตามกันได้เพิ่มเติมทางออนไลน์ข่องทางอื่น เผื่อมีเรื่องราวอัพเดทจะได้ไปเที่ยวด้วยกันอีกในตอนต่อไปนะครับ
Facebook. : http://www.facebook.com/oatenroute
Instagram : http://www.instagram.com/oatenroute
สำหรับทุ่งบาร์เลย์นี้ เมื่อก่อนจะเห็นมีที่ “สิงห์ปาร์ค” ด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าตอนหลังกลายเป็นทุ่งดอกไม้ไปเสียแล้วครับ เท่าที่ทราบตอนนี้ที่ผมรู้จักก็จะเหลือแต่เพียงที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงนี่เอง แล้วตอนปลายหน้าหนาวตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นมีนาคม ถือว่าเป็นช่วงที่ท้องทุ่งกลายเป็นสีทองงดงามมาก ว่าแล้วก็ห้ามพลาดรีบไปกันโดยด่วนครับ
สำหรับนักท่องเที่ยวหากได้ไปเยือนก็ช่วยกันดูแลสถานที่ด้วยนะครับ อย่าไปเด็ดหรือเหยียบย้ำในบริเวณแปลง (ปกติมีคันดินให้เดินอยู่แล้ว) เผื่อคนที่ตามมาทีหลังจะได้เห็นความงามเช่นเดียวกัน รวมไปถึงที่นี่เป็นสถานที่ราชการ หากเข้าไปเที่ยวหรือถ่ายรูปแล้วทำให้ผลผลิตเสียหาย อนาคตที่นี่อาจปิดไม่ให้เข้ากันอีกต่อไปก็ได้
อัพเดทสถานการณ์ล่าสุด
28 กุมภาพันธ์ 2561 : ท้องทุ่งเป็นสีทองเกือบหมด ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว เหลือเพียงส่วนน้อยบางแปลงที่ยังเป็นสีเขียว
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ แนะนำว่ากะเวลาให้ไปถึงประมาณช่วงบ่ายแก่ๆ เพื่อที่ว่าอากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป รวมไปถึงก่อนกลับจะเห็นอาทิตย์ตกที่ปลายทุ่งพอดี โดยก่อนหน้าอาจไปแวะเดินเล่นสวนสตรอว์เบอร์รีพร้อมเก็บทานสดๆ จากไร่บริเวณตัวอำเภอสะเมิง
ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง :
ตั้งอยู่ที่ “ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่”
(อยู่ก่อนถึงตัวอำเภอสะเมิงประมาณ 5 กิโลเมตร)ประวัติความเป็นมา :
ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงได้ก่อตั้งขึ้น วันที่ 1 กันยายน 2521 เป็น “โครงการในพระราชประสงค์ที่ 7” ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เพื่อประโยชน์แก่ชาวไทยที่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนที่สูงและชาวเขาเผ่าต่างๆ
การเดินทาง :
เส้นทาง 1 : จากตัวเมืองเชียงใหม่ เลือกเดินทางไปทางอำเภอแม่ริม “ทางหลวง 107” แล้วแยกออกไปตาม “ทางหลวง 1096” มุ่งหน้าสู่อำเภอสะเมิง
เส้นทาง 2 : ออกเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ โดยถนนสายหลักที่ไปทางอำเภอหางดง “ทางหลวง 108” (ช่วงแรกสามารถผ่านเส้นทางถนนเลียบคลองชลประทาน “ทางหลวง 121” ได้เช่นกัน) จากนั้นจึงแยกเข้า “ทางหลวง 1269” เพื่อไปอำเภอสะเมิง
ปกติจะนิยมเลือก “เส้นทางแรก” เนื่องจากสะดวกและใช้เวลาน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถ เนื่องจากเป็นเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยวตามแนวเขา เมื่อผ่านทางแยกเข้าสู่อำเภอสะเมิง ให้สังเกตป้าย “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” จะเห็นทุ่งข้าวสีทองอยู่ด้านขวามือช่วงลงเนินก่อนถึงตัวอำเภอเพียงนิดเดียว
PHOTO GALLERY