แคนนอนไลฟ์ · รีดีไฟน์ ๒ “อักขรานุกรมไทย”
— ตอน ๒ : ผลิตผลบนสถานีหลวง “อ่างขาง”
หลังจากก่อนหน้านี้ได้สัมผัสบรรยากาศและความงดงามของดอยอ่างขางกลางฤดูฝนกันไปแล้ว มาตอนนี้อยากชวนไปชมผลผลิตของโครงการหลวงบนดอยอ่างขางในช่วงฤดูนี้ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างนะครับ
ความเดิมจากตอนที่แล้ว :
ย้อนเวลากลับไปเกือบ 50 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่อำเภอฝาง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทอดพระเนตรเห็นวิถีชีวิตอันยากลำบากของคนบนดอย ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่าแหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เป็นโครงการส่วนพระองค์แห่งแรก ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้เลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว สร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

มาเริ่มต้นกันที่ “สวนอินทรีย์ (Organic Farm)” ตั้งอยู่บริเวณ “บ้านนอแล” เป็นการส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ อาทิเช่น กะหล่ำปลี คอสสลัด ปวยเล้ง และผักกาดฮ่องเต้ ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี


ถัดมาคือ “แปลงสตรอว์เบอร์รี (Stawberry Extention)” สถานที่ยอดฮิตของมวลมหาชนช่วงฤดูหนาว บริเวณด้านข้างจะเป็นที่ตั้งของ “แปลงกุหลาบ (Rose Extention)” ซึ่งอยู่ในกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่ออกดอกเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี

ย้อนกลับมาด้านในสถานีกันบ้างครับ เริ่มต้นกันที่ “เรือนวิจัยกุหลาบ (Test and Selection of Rose Varieties Greenhouses)” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ตัดดอก บริเวณใกล้ทางออกด้านหน้า มีทั้งส่วนจัดแสดงและส่วนงานวิจัย โดยตามปกติจะไม่ให้คนทั่วไปเข้าชมนะครับ

เวลาขับรถในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จะมีแนวรั้วกั้นตลอดแปลงงานวิจัยต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นพวก “แปลงไม้ผล (Fruit Orchard)” ช่วงเดือนมิถุนายนนี้จะตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวของผลไม้หลายชนิด อาทิเช่น ลูกไหน (Plum) สาลี่ (Pear) ลูกท้อ (Peach) เป็นต้น ซึ่งผลไม้ตระกูลนี้จะดูลักษณะคล้ายคลึงกันจนผมสับสนอยู่บ่อยๆ


มีบางส่วนเริ่มออกผลให้เห็น ซึ่งจะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ช่วงกลางฤดูฝนเป็นต้นไป เช่น ลูกพลับ (Persimmon) และกีวีฟรุต (Kiwifruit)



สำหรับต้นบ๊วย (Japanese Apricot) ซึ่งตามปกติจะบานในเวลาใกล้เคียงกับดอกนางพญาเสือโคร่งช่วงฤดูหนาว จะออกผลและเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน คราวนี้จึงเห็นแต่เพียงใบสีเขียวเต็มต้นไปหมด

ตรงข้ามแปลงบ๊วยยอดนิยมซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายหนังมาหลายเรื่อง เป็นที่ตั้งของ “แปลงรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว (Temperate Vegetable Greenhouse)” จะเห็นโรงเรือนหลังใหญ่ชัดเจน ภายในเต็มไปด้วยพืชผักเมืองหนาว สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมได้ทุกฤดูกาลครับ




จากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในสถานีเกษตรหลวง ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การคัดแยกและห่อของ ซึ่งผลผลิตจะถูกส่งไปยัง “อาคารผลผลิต (Packing House)” ก่อนแจกจ่ายไปยังลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ผักเมืองหนาวช่วงเวลาเก็บเกี่ยวจะไม่ล้างทำความสะอาด มิเช่นนั้นอาจมีปัญหาเรื่องความชื้นได้ การบรรจุหีบห่อสำหรับขนส่ง มีทั้งแบบแพ็คเบื้องต้นในลังและกล่อง แล้วจึงส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าโครงการหลวงในตัวเมืองเชียงใหม่โดยรถห้องเย็น หรือบรรจุถุงประทับตราโครงการหลวงตามที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

นอกจากพืชผักเมืองหนาวอันเป็นสินค้ายอดนิยม ยังมีเห็ดต่างๆ อาทิเช่น เห็ดกระดุมสีน้ำตาล (Portobello Mushroom) เป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงในภูมิอากาศหนาว ดอกเห็ดมีลักษณะสีน้ำตาล ขนาด 2-6 นิ้ว ซึ่งให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ภายในเห็ดมีเอ็นไซม์ช่วยในการย่อยอาหาร ลดความดันโลหิตสูง และยังช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลส์มะเร็งอีกด้วย สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอดซีอิ๊ว ผัดน้ำมันหอย หรือใส่ในต้มยำหรือแกงต่างๆ โดยเมนูเหล่านี้หาทานได้ที่สโมสรอ่างขางเช่นกันครับ

สำหรับพันธุ์ไม้ตัดดอกอย่างกุหลาบก็เป็นผลิตผลที่มีตลอดทั้งปี มาทริปนี้มีโอกาสได้เห็นดอกกุหลาบสีสวยดอกโต งดงามไม่แพ้ดอกไม้จากต่างประเทศ โครงการหลวงได้พัฒนาสายพันธุ์กุหลาบรวมแล้วประมาณ 80 พันธุ์ มีพื้นที่ปลูกอยู่บนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและโครงการหลวงดอยอินทนนท์

กุหลาบที่ดอกได้ขนาดพอเหมาะจะถูกนำมาคัดเกรดบนสถานีเกษตรหลวง โดยแบ่งเกรดต่างๆ ตามขนาดดอกและความยาวก้าน เมื่อคัดสีและเกรดเสร็จจะถูกจัดเป็นช่อก่อนส่งเข้าห้องเย็นเพื่อเตรียมขนส่ง โดยบางส่วนจะได้รับการส่งเข้าวังเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ ตามที่ได้เห็นในข่าวพระราชสำนัก ซึ่งคนไม่น้อยอาจคิดว่าเป็นดอกกุหลาบราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ความจริงแล้วคือดอกที่ปลูกในโครงการหลวงนั่นเอง นอกจากนี้ผมยังแอบทราบมาว่ากุหลาบสีที่นิยมมากคือกุหลาบสีโทนอ่อน เช่น ชมพูอ่อน ส้มอ่อน ขาว และครีม โดยเฉพาะสีชมพูทุกเฉดกำลังเป็นที่ต้องการที่สุด


จากต้นทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผลิตผลทั้งหลายจะถูกขนส่งโดยรถห้องเย็นโครงการหลวงอุณหภูมิ 5-8 องศา นำไปส่งที่ศูนย์กระจายสินค้าในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยกุหลาบส่วนหนึ่งจะแบ่งไว้ที่เชียงใหม่ เพื่อจำหน่ายตามตลาดทางภาคเหนือและต่างประเทศ อาทิเช่น สิงคโปร์ แต่ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งมีฐานลูกค้าประจำอยู่ ตัวอย่างเช่น การบินไทย และโรงแรมทั้งหลาย

มาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า อ่างขางไม่ได้น่าสนใจเพียงแค่หน้าหนาวนะครับ ช่วงฤดูฝนก็มีทั้งบรรยากาศไอหมอกซึ่งมาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำ ซึ่งพืชผลหลายอย่างอาจพบเจอได้เพียงช่วงฤดูนี้ แต่ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับห้องพักราคาถูก และมีว่างคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ (อย่างที่ทราบกันดีว่าหน้าหนาวนี่แม้จองกันข้ามปียังไม่ค่อยทันเลยครับ) นอกจากนี้ก็ไม่ต้องแย่งกันเที่ยว เวลาถ่ายรูปไม่ต้องเสียอารมณ์หรือหงุดหงิดใจ หากโดนคนอื่นบังมุม ไม่รวมเหตุผลอื่นๆ อีกล้านแปด สรุปว่าอ่างขางน่าเที่ยวทุกฤดู อยากให้มาเที่ยวกันเยอะๆ ตามรอยเท้าของพ่อหลวงด้วยกันครับ
สุดท้าย ขอขอบคุณ โครงการ “CanonLife : Redefine 2” พร้อมทีมงาน CanonLife และ Canon Marketing (Thailand) Co., Ltd. ทุกท่าน ที่ให้ผมได้มีโอกาสเดินตามรอยเท้าพ่อหลวง กลับมาเปิดประสบการณ์สัมผัสอ่างขางช่วงฤดูฝนเป็นครั้งแรก รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีๆ เช่นนี้ครับ
ก่อนจากกัน ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ “แคนนอนไลฟ์ รีดีไฟน์ ๒ : อักขรานุกรมไทย” ที่ผมร่วมเดินทางในทริปนี้ด้วยนะครับ อยากชวนให้ใครก็ตามที่รักการท่องเที่ยวและถ่ายภาพได้มีส่วนร่วมในโครงการ โดยการส่งประกวดภาพถ่ายมุมมองใหม่ผ่านตัวอักษรไทยทั้ง 44 ตัว ในหัวข้อ “อักขรานุกรม ก-ฮ” เพื่อชิงรางวัล “กล้อง Canon EOS 77D” รุ่นใหม่ล่าสุด เงินสด และรางวัลมูลค่ากว่า 4 แสนบาท โดยส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 31 สิงหาคม 2560
“อักขรานุกรม ก-ฮ”
คือ การรวมภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการตามพระราชดำริ ผลิตภัณฑ์ และ สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็น “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” และบันทึกไว้เป็น “อักขรานุกรม” โดยเรียงลำดับตามอักษรไทย ก-ฮ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ
อุปกรณ์ถ่ายภาพ :
Canon EOS 5D Mark IV
EF 17-40 f/4L USM
EF 24-70 f/2.8L USM
EF 70-300 f/4-5.6L IS USM
EF 100 f/2.8L Macro IS USM
ติดตามการเดินทางและถ่ายภาพของผมได้ที่ :
Travel Blog : http://www.oatenroute.com
FB : http://www.facebook.com/oatenroute
IG : http://www.instagram.com/oatenroute
#OATENROUTEANGKHANG #OATENROUTE
#LIFESTER #REDEFINE #REDEFINE2
#CANONLIFE #CANONTHAILAND #CANON